มารู้จักกับเหลียนฮัวชิงเวิน (Lianhua Qingwen)

วารสารยาน่ารู้ ฉบับที่ 2/2566 ประจำช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2566 ของเภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เผยแพร่บทความความรู้เกี่ยวกับเหลียนฮัวชิงเวิน (Lianhua Qingwen) โดยมีเนื้อความดังต่อไปนี้

สารบัญ

บทนำ

เหลียนฮัวชิงเวิน (Lianhua Qingwen, LHQW) เป็นตำรับยาสมุนไพรจีนซึ่งคิดค้นขึ้นมาใหม่ ที่ได้รับสิทธิบัตรจีน (SFDA Approval No. Z20040063) ผลิตโดย บริษัท สือเจียจวง อี้หลิง ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (Shijiazhuang Yiling Pharmaceutical Co., LTD.) มณฑลเหอเป่ย ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเหลียนฮัวชิงเวินขึ้นมาตามหลักการของยาจีนแผนโบราณ (Traditional Chinese Medicine หรือ TCM) จากสูตรตำรับยาจีนแผนโบราณ 2 ตำรับ คือ Maxing-Shigan-Tang และ Yinqiao-San ยาเหลียนฮัวชิงเวินประกอบด้วยส่วนต่างๆ ของสมุนไพร 13 ชนิด คือ Lianqiao (Fructus Forsythiae), Jinyinhua (Flos Lonicerae Japonicae), Mahuang (Herba Ephedrae), Kuxingren (Semen Armeniacae Amarum), Banlangen (Radix Isatidis), Mianmaguanzhong (Rhizoma Dryopteridis Crassirhizomatis), Yuxingcao (Herba Houttuyniae), Guanghuoxiang (Herba Pogostemonis), Dahuang (Radix et Rhizoma Rhei), Hongjingtian (Radix et Rhizoma Rhodiolae Crenulatae), Gancao (Radix et Rhizoma Glycyrrhizae), Menthol และ Shigao (Gypsum Fibrosum) ในสาธารณรัฐประชาชนจีน เหลียนฮัวชิงเวินอยู่ในเภสัชตำรับจีน เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติและบัญชีประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รับอนุมัติให้ใช้รักษา Severe Acute Respiratory Syndrome (SARS) ซึ่งระบาดในปี พ.ศ. 2546 ไข้หวัดใหญ่จากไวรัส H7N9, H3N2 และ H1N1 ซึ่งระบาดในปี พ.ศ. 2552 และ โควิด-19 (SARS-CoV-2) ซึ่งอุบัติขึ้นในปี พ.ศ. 2562 รวมทั้งมีการนำมาใช้ในโรคมือ-เท้า-ปาก และโรคของระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ทอนซิลและไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Shen & Yin, 2021)

ปัจจุบันเหลียนฮัวชิงเวินในรูปของแกรนูลหรือยาเม็ดแคปซูลได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาสิทธิบัตรจีน ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพในหลายๆ ประเทศ อาทิ แคนาดา บราซิล โรมาเนีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลาว และคูเวต รวมทั้งได้รับการอนุมัติจาก USFDA ให้ดำเนินการศึกษา Clinical Phase II Trial ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ สำหรับประเทศไทย เหลียนฮัวชิงเวินในรูปยาเม็ดแคปซูล (เหลียนฮัว ชิงเวิน แคปซูล) ซึ่ง บริษัท เอินเวย์ กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย ไดรับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรประเภทยาจากสมุนไพรที่วิจัยพัฒนา เลขทะเบียนที่ i6300037/63 (H) จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563 โดยมีข้อบ่งใช้ ดังนี้

  • สามารถใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คัดจมูก ไอ เจ็บคอ และปวดศีรษะ
  • ตามทฤษฎีของการแพทย์แผนจีนนั้น ยานี้มีฤทธิ์ขับสารพิษและระบายความร้อน สามารถใช้รักษาโรคหวัดที่มีอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ และเจ็บคอ

ส่วนประกอบสำคัญและสารออกฤทธิ์

มีการศึกษาด้านเคมีวิเคราะห์ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของเหลียนฮัวชิงเวิน โดยคณะผู้วิจัยจาก Tianjin University of Chinese Medicine ในปี พ.ศ. 2557 พบว่าในเชิงคุณภาพ เหลียนฮัวชิงเวินประกอบด้วยสารที่มีโครงสร้างเคมีทั้งในกลุ่มของ Flavonoids, Phenylpropanoids, Anthraquinones, Triterpenoids, Iridoids และอื่นๆ อีกหลายชนิด โดยมีสารที่สามารถระบุคุณลักษณะได้จากการเปรียบเทียบ Retention Time หรือการวัด Mass ได้ถึง 61 ชนิด และได้มีการวิเคราะห์เชิงปริมาณของสารในกลุ่มนี้ 12 ชนิด ได้แก่ Salidroside, Chlorogenic Acid, Forsythoside E, Cryptochlorogenic Acid, Amygdalin, Sweroside, Hyperin, Rutin, Forsythoside A, Phillyrin, Rhein และ Glycyrrhizic Acid เพื่อจะนำมาใช้ประโยชน์เป็น Chemical Markers สำหรับการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ (Jia et al, 2014) จากการทดลองในหลอดทดลอง พบว่าสาร 7 ชนิด ได้แก่ Arctiin, Forsythoside A, Gallic Acid, Isoliquiritigenin, Kaempferol, Rutin และ Secoxyloganin มีฤทธิ์ต้านไวรัส และพบฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง Nitric Oxide (NO) ของ Forsythoside A, Phillyrin, Rutin, Salidrosidec และ Secoxyloganin (Wang et al, 2016) ในอาสาสมัครที่รับประทานเหลียนฮัวชิงเวินเป็นเวลาหลายๆ วัน ก็พบว่ามีสารสำคัญ 87 ชนิดและเมแทบอไลต์อีก 45 ชนิดที่ตรวจพบได้ในเลือด ในขณะที่พบสารสำคัญในปัสสาวะ 70 ชนิด (Chen et al, 2021) ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจสำหรับยาเหลียนฮัวชิงเวิน ซึ่งเป็นยาสูตรตำรับที่ประกอบด้วยสมุนไพรถึง 13 ชนิด ทำให้การตอบคำถามว่าสารออกฤทธิ์ที่สำคัญคืออะไร มีกี่ชนิด มีกลไกการออกฤทธิ์และเภสัชจลนศาสตร์อย่างไร เป็นเรื่องซับซ้อนและยุ่งยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกในการรักษาโควิด-19 ซึ่งก็เป็นโรคอุบัติใหม่เช่นกัน ดังนั้น จึงได้มีการนำเอา Network Pharmacology ซึ่งเป็นการนำเอาความรู้ทางชีววิทยา เภสัชวิทยา และวิทยาการวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์ มาเชื่อมโยงส่วนประกอบของยากับโรครวมทั้งเป้าหมายที่คาดว่าสัมพันธ์กับการออกฤทธิ์ของยามาใช้ศึกษาการออกฤทธิ์ของเหลียนฮัวชิงเวิน

ผลงานวิจัยโดยการใช้ Network Pharmacology โดยนักวิจัยหลายกลุ่มนำไปสู่การระบุสารออกฤทธิ์และเป้าหมายการออกฤทธิ์ที่หลากหลาย เช่น Zhang และคณะพบว่าเหลียนฮัวชิงเวินมีสารสำคัญถึง 158 ชนิด มีเป้าหมายการออกฤทธิ์ 49 เป้าหมาย ซึ่งมีหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ การตอบสนองด้านภูมิคุ้มกัน และภาวะ Oxidative Stress เช่น IL-17, TNF และ NF-kappa B ตลอดจนการแบ่งตัวของ Th17 นอกจากนั้นยังพบว่าสารสำคัญ 4 ชนิด คือ Quercetin, Luteolin, Wogonin และ Kaempferol มีความชอบสูงที่จะจับกับ 3-Chymotrypsin-Like Protease (3CL) ของไวรัส SARS-CoV-2 (Zhang et al, 2021) ในขณะที่ Tianyu และคณะระบุว่า IL6 เป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งในการออกฤทธิ์รักษาโควิด-19 และสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ต่อเป้าหมายนี้คือ Quercetin, Luteolin และ Wogonin (Tianyu et al, 2021) ส่วนการศึกษาที่มุ่งเป้าไปยัง ACE2 ซึ่งเป็นตำแหน่งการเข้าจับของไวรัส SARS-CoV-2 ก็พบว่า Rhein, Forsythoside A, Forsythoside I, Neochlorogenic acid เป็นสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ยับยั้งสูงต่อ ACE2 (Chen et al, 2021) และ Hyperoside, Rutin และ Forsythiaside ก็เป็นสารสำคัญที่ยับยั้งเอนไซม์ Protease ของไวรัส SARS-CoV-2 ได้ (Jia & Wu, 2021) ไม่นานมานี้ Su และคณะก็รายงานว่าเป้าหมายหลักของเหลียนฮัวชิงเวินในการรักษาโควิด-19 มีถึง 20 เป้าหมาย อาทิ COX 2, IL6 และ TNF ซึ่งมักเป็นส่วนที่เกี่ยวกับการตอบสนองด้านภูมิคุ้มกัน การแบ่งตัวและการตายของเซลล์ การทำงานของ Cytokines รวมทั้ง Signaling Pathway ต่าง ๆ อีกมากมาย นอกจากนั้นยังพบว่าสารสำคัญของเหลียนฮัวชิงเวิน 31 ชนิดมีความชอบที่จะจับกับเป้าหมาย 6 ชนิด ดังต่อไปนี้ 3CL, Angiotensin-Converting Enzyme 2 (ACE2), Cyclooxygenase-2 (COX-2), Hemagglutinin(HA), IL-6 และ Neuraminidase (NA) ได้แตกต่างกัน และสารที่จับกับเป้าหมายหลักทั้งหกได้ดีที่สุด ได้แก่ Rutin, Isoforsythiaside A, Hesperidin และ Isochlorogenic Acid B (Su et al, 2022) คาดว่าองค์ความรู้ในรูปของฐานข้อมูลและเทคโนโลยีที่นำมาใช้ใน Network Pharmacology ที่ก้าวหน้าต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้งจะช่วยทำให้เราเข้าใจวิถีการออกฤทธิ์รักษาของเหลียนฮัวชิงเวินได้ดีขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามจากรายงานการศึกษาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อาจกล่าวได้อย่างกว้างๆ ว่าผลการรักษาทางคลินิกของเหลียนฮัวชิงเวินเป็นผลจากการออกฤทธิ์ของสารสำคัญหลายชนิดและด้วยกลไกการออกฤทธิ์หลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ การทำงานของภูมิคุ้มกัน การยับยั้งการเข้าจับของไวรัสกับตัวรับ และอาจมีกลไกอื่นๆ ซึ่งต้องมีการศึกษาต่อไป (Jia & Wu, 2021)

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

ฤทธิ์ต้านจุลชีพ

ผลการศึกษาด้านเภสัชจลศาสตร์ทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง แสดงให้เห็นว่าเหลียนฮัวชิงเวินเป็น Broad Spectrum Antivirus ที่สามารถต้านไวรัสได้หลายชนิด อาทิ FM1 Virus, Respiratory Syncytial Virus (RSV), Coxsackie Virus, Influenza, Parainfluenza Virus และ SARS-CoV-2 (Ding et al, 2017) จากการศึกษาโดยใช้เซลล์เพาะเลี้ยง Vero E6 และ Huh-7 ซึ่งได้รับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 พบว่าเหลียนฮัวชิงเวินสามารถยับยั้งการแบ่งตัวและเปลี่ยนรูปร่างของไวรัส รวมทั้งลดการหลั่ง TNF-α, IL-6, CCL-2/MCP-1 และ CXCL-10/IP-10 ซึ่งเป็น Cytokines ที่ถูกเหนี่ยวนำให้หลั่งโดยไวรัสดังกล่าวในลักษณะที่มีความสัมพันธ์กับปริมาณสารสกัดที่ได้รับ (Runfeng et al, 2020) ซึ่งกลไกดังกล่าวมานี้ น่าจะเป็นประโยชน์ในการรักษา Cytokine storm และปอดอักเสบที่พบในผู้ป่วยโควิดขั้นรุนแรง สำหรับ Alpha, Beta, Omicron variant นั้น ก็พบว่าเหลียนฮัวชิงเวินมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสเหล่านี้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบว่าเหลียนฮัวชิงเวินมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียบางชนิด เช่น Staphylococcus Aureus, Staphylococcus Epidermidis และ Hemophilus Influenza อีกด้วย

ฤทธิ์ต้านอักเสบ

เหลียนฮัวชิงเวินสามารถลดการอักเสบและการบวมที่ใบหูและอุ้งเท้าของหนูเมาส์ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดขึ้นโดยสารคาราจิแนน และในหนูเมาส์ที่ถูกทำให้ติดเชื้อไวรัส H1N1 พบว่าเหลียนฮัวชิงเวินสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสและลดการแสดงออกของ Cytokines ซึ่งเกี่ยวกับการอักเสบ อาทิ TNF-α, IL-4, IL-6, IL-1β รวมทั้งลดการอักเสบและลดสิ่งคัดหลั่งจากปอด มีสารสำคัญหลายชนิดในเหลียนฮัวชิงเวินที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ รวมทั้ง Phillyrin (เป็นสารสำคัญของ Forsythiae Fructus ที่เภสัชตำรับจีนกำหนดไว้เพื่อควบคุมคุณภาพว่า หนึ่งแคปซูลของยาเหลียนฮัวชิงเวินจะต้องมี Phillyrin ไม่ต่ำกว่า 0.17 มก.) ซึ่งสามารถยับยั้งไม่ให้ JAK1/2 ถูกเติมฟอสเฟต จึงสามารถลดการอักเสบที่เกิดจาก IL-6 ที่ทำงานผ่าน JAK1/2 (Liang, 2021) ระดับของ IL-6 ที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดพยาธิสภาพที่นำไปสู่การแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันเลือดต่ำ เนื้อเยื่อขาดออกซิเจน ระบบอวัยวะทำงานผิดปกติ ดังเช่นในภาวะที่เกิด Cytokine Storm ในผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรง จากการศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้ง COX-2 ของเหลียนฮัวชิงเวินจากรอบการผลิตที่แตกต่างกันของบริษัทสือเจียจวง อี้หลิง ฟาร์มาซูติคอล จำกัด จำนวน 40 ตัวอย่าง พบว่า Bio-Activity ในการยับยั้ง COX-2 ของตัวอย่างเหล่านี้จะมีค่าแปรผันอยู่ระหว่าง 510-1413 U/µg (ค่าเฉลี่ย 856 U/µg) และ Chlorogenic Acid, Isochlorogenic Acid B และ Isochlorogenic Acid C เป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบอย่างมีนัยสำคัญในลักษณะที่มีความสัมพันธ์กับปริมาณสารสกัด (Zhou et al, 2021)

ฤทธิ์อื่นๆ

เหลียนฮัวชิงเวินมีฤทธิ์ระงับปวด และลดไข้ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดขึ้นในกระต่าย มีฤทธิ์ขับเสมหะ และลดการไอที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดขึ้นในหนูเมาส์และหนูตะเภา รวมทั้งมีฤทธิ์ปรับเปลี่ยนการทำงานของภูมิคุ้มกัน (Immunomodulatory Effect) ช่วยให้เม็ดเลือดขาวของหนูเมาส์ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องทำงานได้ดีขึ้น (Jia and Wu, 2021)

ประโยชน์ใช้ในทางคลินิก

เหลียนฮัวชิงเวินถูกนำไปใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหลายชนิดดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ในที่นี้จะขอนำมากล่าวเฉพาะในส่วนของการนำมาใช้รักษาการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ และการนำมาใช้ในการรักษาการติดเชื้อโควิด-19

การรักษาการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

หลังการอนุมัติการขึ้นทะเบียนยาแบบ Fast-Track ในสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อปี พ.ศ. 2546 เพื่อใช้ในการควบคุมการระบาดของ SARS ยาเหลียนฮัวชิงเวินถูกนำมาใช้รักษาหวัดและไข้หวัดใหญ่ รวมถึงไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 ซึ่งระบาดในปี พ.ศ. 2552 ในสัตว์ทดลองพบว่าเหลียนฮัวชิงเวินมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสไข้หวัดใหญ่หลายชนิด ลดการกระตุ้น NF-kappa B และลดการแสดงออกของ IL-6, IL-8, TNF-a, IP-10, และ MCP-1 ที่ถูกเหนี่ยวนำโดยไวรัส (Ding et al, 2017) การศึกษาทางคลินิกเปรียบเทียบประสิทธิภาพของเหลียนฮัวชิงเวินกับยาประเภท Neuraminidase Inhibitors ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 จำนวน 244 คน เป็นเวลา 5 วัน พบว่ายาทั้งสองชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการรักษาไม่แตกต่างกัน เมื่อประเมินจากระยะเวลาที่หายป่วย ระยะเวลาที่ตรวจไม่พบเชื้อไวรัส แต่เหลียนฮัวชิงเวินจะควบคุมอาการไข้ ไอ เจ็บคอและเหนื่อยอ่อนล้าได้เร็วกว่ายาประเภท Neuraminidase Inhibitors อย่างมีนัยสำคัญ (Duan et al, 2011) และพบผลการศึกษาที่สอดคล้องไปในทางเดียวกันกับการศึกษานี้ จากการวิเคราะห์อภิมานของการศึกษาในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ จำนวน 5 การศึกษา (Zhao et a, 2014)

การรักษาการติดเชื้อโควิด-19

เชื้อโควิด-19 (SARS-CoV-2) เป็นไวรัสชนิดใหม่ที่ติดต่อได้ง่าย จึงเกิดการระบาดอย่างกว้างขวางและรวดเร็วไปทั่วโลก หลังจากมีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเป็นครั้งแรกจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลเหอเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 ก็มีรายงานการติดเชื้อในประเทศอื่นๆ ตามมาอีกกว่า 200 ประเทศ จนถึงปี พ.ศ. 2564 เชื้อนี้ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 5 ล้านคน ปัจจุบันก็ยังไม่มียาที่จะใช้รักษาไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ

ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2563 สำนักงานอาหารและยาของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้ปรับเหลียนฮัวชิงเวินซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นยาสำหรับรักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ขึ้นมาเป็นยาที่ใช้ตามใบสั่งแพทย์ สำหรับรักษาการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยและปานกลาง ในระหว่างการระบาดดังกล่าว บริษัท สือเจียจวง อี้หลิง ฟาร์มาซูติคอล ได้บริจาคเหลียนฮัวชิงเวินให้แก่สภากาชาดจีน อิรัก และอิตาลี เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด จากยอดขายในสองเดือนแรกของปี พ.ศ. 2563 อาจประมาณการได้ว่า จำนวนผู้ใช้ยาเหลียนฮัวชิงเวินในระหว่างการระบาดมีสูงถึง 70 ล้านคน อาการหลักที่พบในผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ได้แก่ ไข้ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยล้า และหายใจลำบาก อาจพบอาการปวดหัว มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียในผู้ป่วยบางราย อาการอาจรุนแรงขึ้นเป็น Acute Respiratory Distress Syndrome (ARDS) ซึ่งเป็นภาวะที่ปอดไม่สามารถจะส่งออกซิเจนให้แก่ระบบอวัยวะอย่างทั่วถึง ส่งผลให้ระบบอวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลวและเสียชีวิตได้ในที่สุด หากพิจารณาจากองค์ประกอบและสารสำคัญต่างๆ ที่พบในเหลียนฮัวชิงเวินและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังได้กล่าวมาแล้ว เหลียนฮัวชิงเวินน่าจะออกฤทธิ์รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิดผ่านกลไกหลายอย่าง เช่น ปิดกั้นการเข้าจับกับ ACE2 ซึ่งเป็นตำแหน่งการเข้าจับของไวรัส SARS-CoV-2 ยับยั้งการเกิดหรือลดความรุนแรงของ Cytokine Storm ลดการอักเสบโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปอด มีการศึกษาทางคลินิกเพื่อประเมินประสิทธิภาพของเหลียนฮัวชิงเวินในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในสาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่หลายรูปแบบ ตั้งแต่เป็นการสังเกตผลแบบไปข้างหน้าหรือย้อนหลัง จนถึงการวิจัยในรูปแบบของ Randomized Controlled Trials (RCT) ที่ผู้เผยแพร่เป็นภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษมีปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลต่างๆ เป็นจำนวนมาก บางส่วนถูกนำมาศึกษาต่อด้วยการวิเคราะห์อภิมาน หรือการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดของเกณฑ์การคัดเลือกการศึกษาที่นำมาวิเคราะห์รวมทั้งคุณภาพของงานวิจัย แต่ในภาพรวมก็อาจกล่าวได้ว่า การนำเอาเหลียนฮัวชิงเวินมาใช้รักษาผู้ป่วยโควิดร่วมกับการรักษามาตรฐาน เช่น การดูแลด้านโภชนาการ การให้ยาตามอาการ รวมถึงการได้รับยาต้านไวรัส จะมีประสิทธิภาพในการรักษาสูงกว่าการได้รับการรักษาตามมาตรฐานเพียงอย่างเดียว ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาเสริมด้วยเหลียนฮัวชิงเวินจะหายจากอาการต่างๆ โดยเฉพาะอาการไข้ ไอ เหนื่อยล้า ปอดอักเสบ หายใจลำบาก ได้เร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับ อีกทั้งยังพบว่าเหลียนฮัวชิงเวินสามารถลดการลุกลามของอาการโรคไปสู่ระดับรุนแรงหรือวิกฤตได้

Fang และคณะได้ทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและทำการวิเคราะห์อภิมานจากการศึกษาแบบ RCT จำนวน 16 การศึกษา (เป็นการศึกษาในสาธารณรัฐประชาชนจีนทั้งหมดและตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษเพียง 4 การศึกษา) ในผู้ป่วย 1,896 คน เพื่อประเมินประสิทธิภาพของเหลียนฮัวชิงเวินในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด พบว่าร้อยละ 88.24 ของยาที่ใช้อยู่ในรูปของแกรนูล มีเพียงร้อยละ 11.76 ที่อยู่ในรูปยาเม็ดแคปซูล โดยกลุ่มทดลองจะได้รับยาเหลียนฮัวชิงเวินร่วมกับยาและการรักษาอื่นๆ ตามมาตรฐานการรักษาทั่วไป ในขณะที่กลุ่มควบคุมจะได้รับเพียงยาและการรักษาอื่นๆ ตามมาตรฐานการรักษาเช่นเดียวกับที่กลุ่มทดลองได้รับเท่านั้น ระยะเวลาของการรักษาอยู่ที่ 6-15 วัน พบว่าอาการไข้ อาการไอ และอาการเหนื่อยล้าของกลุ่มทดลองจะหายเร็วกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกน้อยกว่า มีจำนวนวันที่พักรักษาอยู่ในโรงพยาบาลสั้นกว่า และตรวจไม่พบไวรัสได้เร็วกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ไม่พบความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มนี้ในด้านอัตราการเสียชีวิตและอุบัติการณ์ของฤทธิ์อันไม่พึงประสงค์ เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย กรดไหลย้อน ปวดหัว มึนงง (Fang et al, 2022) สอดคล้องกับผลการศึกษาด้วยวิธีการเช่นเดียวกันในกลุ่มผู้ป่วยโควิดที่มีอาการเล็กน้อยและปานกลางจำนวน 5 การศึกษา (เป็น RCT ทั้งหมด) ในผู้ป่วย 830 คน นอกจากนั้นยังพบว่าอาการปอดอักเสบของผู้ป่วยที่ได้รับเหลียนฮัวชิงเวินลดลงเมื่อประเมินจากภาพเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ (Shi et al, 2022) เช่นเดียวกับผลการศึกษาของ Li และคณะ ซึ่งทำการวิเคราะห์อภิมานการศึกษา 7 การศึกษา (เป็น RCT 3 การศึกษา) ในผู้ป่วย 916 คน (Li et al, 2022)

ผลการศึกษาเหล่านี้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นว่าเหลียนฮัวชิงเวินที่ใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษาการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มีประสิทธิภาพในการรักษาไม่แตกต่างจากยาแผนปัจจุบัน และในกรณีของการติดเชื้อโควิด-19 พบว่าการนำเอาเหลียนฮัวชิงเวินมาใช้ร่วมกับการรักษามาตรฐาน ในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการเล็กน้อยและปานกลาง เป็นการรักษาเสริมที่มีประสิทธิภาพช่วยให้ผลการรักษามาตรฐานดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในหลายๆ ด้าน โดยมีฤทธิ์อันไม่พึงประสงค์ที่ไม่ต่างไปจากการรักษาตามมาตรฐานทั่วๆ ไป เมื่อไม่นานมานี้ Gong และคณะได้ศึกษาผลของเหลียนฮัวชิงเวินในกลุ่มประชากรที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด และพบว่ากลุ่มผู้ใกล้ชิดที่อยู่อาศัยหรือรับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วยและได้รับเหลียนฮัวชิงเวินมีอัตราการติดเชื้อต่ำกว่า (1 จาก 1070 คน หรือ 0.09%) กลุ่มที่ไม่ได้รับยา (6 จาก 840 คน หรือ 0.71%) อย่างมีนัยสำคัญ แต่จะไม่พบความแตกต่างของการติดเชื้อหากจะพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่มีสถานภาพความใกล้ชิดลักษณะเดียวกันของสองกลุ่มนี้ (Gong et al, 2021)

เอกสารอ้างอิง

  • Chen X, Wub Y, Chenc C, et al. Identifying potential anti-COVID-19 pharmacological components of traditional Chinese medicine Lianhuaqingwen capsule based on human exposure and ACE2 biochromatography screening. Acta Pharm. Sin. B. 2021;11(1):222-236.
  • Ding Y, Zeng L, Li R, et al. The Chinese prescription lianhuaqingwen capsule exerts anti-influenza activity through the inhibition of viral propagation and impacts immune function. BMC Complement Altern. Med. 2017; 17(1): 130. DOI 10.1186/s12906-017-1585-7
  • Duan Z, Jia Z, Zhang J, et al. Lianhuaqingwen capsule anti-influenza A (H1N1) trial: a randomized, positive controlled clinical trial. Chin. Med. J. 2011; 124(18) :2925-2933.
  • Fang L, Zhan Y, Qu L, et al. The clinical efficacy and safety research of Lianhuaqingwen (LHQW) in treatment of COVID-19: A systematic review and meta-analysis. Pharmacol. Res- Mod. Chinese Med.2022: DOI: 10.1016/j.prmcm.2022.100092
  • Gong W, Yuan B, Yuan Y, et al. Efficacy and safety of Lianhuaqingwen capsules for the prevention of coronavirus disease 2019: A prospective open-label controlled Trial. Evid.-based Complement. Altern. Med. 2021: DOI: 10.1155/2021/7962630
  • Jia Z & Wu Y. Clinical applications and pharmacological research progress of Lianhua Qingwen capsules/granules. J. Tradit. Chin. Med. Sci. 2021: 8 :101e109
  • Jia W, Wang C, Wang Y, et al. Qualitative and quantitative analysis of the major constituents in Chinese medical preparation Lianhua-Qingwen capsule by UPLC-DAD-QTOF-MS. Sci. World J.2014; DOI: 10.1155/2014/731765
  • Li Y, Xiao P & Zhang Z. Efficacy and Safety of Chinese Medicine Lianhua Qingwen for Treating COVID-19: An Updated meta-Analysis. Front. Pharmacol.2022: DOI: 10.3389/fphar.2022.888820
  • Liang C, Hui N, Liu Y, et al. Insights into forsythia honeysuckle (Lianhuaqingwen) capsules: A Chinese herbal medicine repurposed for COVID-19 pandemic. Phytomed. Plus 2021: DOI: 10.1016/j.phyplu.2021.100027
  • Runfeng L, Yunlonge H, Jichengd H, et al. Lianhuaqingwen exerts anti-viral and anti-inflammatory activity against novel coronavirus (SARS-CoV-2). Pharmacol. Res.2020: 156 /2020/104761
  • Shen X & Yin F. The mechanisms and clinical application of Traditional Chinese Medicine Lianhua-Qingwen capsule. Biomed Pharmacother. 2011: 142/2011/ 111998
  • Shi C, Wu M, Yang K, et al. Lianhua Qingwen Capsules Reduced the Rate of Severity in Patients with COVID-19: A System Review and Meta-Analysis of Randomized Controlled Trials. Evid.-based Complement. Altern. Med. 2022: DOI: 10.1155/2022/9617429
  • Su H, Wu G, Zhan L, et al. Exploration of the Mechanism of Lianhua Qingwen in treating influenza virus pneumonia and new coronavirus pneumonia with the concept of “Different Diseases with the Same Treatment” based on network pharmacology. Evid.-based Complement. Altern. Med. 2022: DOI: 10.1155/2022/5536266
  • Tianyu Z, Xiaoli C, Yaru W, et al. New tale on LianHuaQingWen: IL6R/IL6/IL6ST complex is a potential target for COVID-19 treatment. AGING 2021;13(21): 23913-35
  • Wang CH, Zhong Y, Zhang Y, et al. A network analysis of Chinese medicine Lianhua-Qingwen formula to Identify its main effective components. Mol. BioSyst. 2016;12: 606-613.
  • Zhao P, Yang H, Lu HY, et al. Efficacy of Lianhuaqingwen capsule compared with neuraminidase inhibitor drug for influenza A virus: A meta-analysis of randomized, controlled trials. Altern. Ther. 2014; 20(2): 25-30. Zhou Y, Niu M, Zhang D, et al. Screening for anti-inflammation quality markers of Lianhua Qingwen capsule based on network pharmacology, UPLC, and biological activity. DOI:. Front. Pharmacol.2022: DOI: 10.3389/fphar.2021.648439
  • Zhang X, Gao R, Zhou Z, et al. A network pharmacology based approach for predicting active ingredients and potential m Lianhuaqingwen capsule in treating COVID-19. Int. J. Med. Sci. 2021; 18(8): 1866-1876.